"ไม่เค็ม" ป้องกันความดันเลือดสูง


คนที่ชอบทานอาหารรสเค็มจัดคงต้องหักห้ามใจเหยาะเกลือลงในอาหารเมนูโปรดของคุณให้น้อยลง เพราะเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สถาบันวิจัยทางการแพทย์ของอังกฤษได้รายงานว่า การลดการบริโภคเกลือโดยเฉลี่ย 6 - 9.5 กรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้ 10 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดปัญหาหลอดเลือดอุดตันลงได้ถึง 13 เปอร์เซ็นต์ 

ผลการวิจัยดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษกระตือรือร้นที่จะวางแผนจำกัดมาตรฐานการบริโภคเกลือของคนอังกฤษในปี 2010 ให้ลดลงถึง 6 กรัมต่อวัน และหากรัฐบาลสามารถดำเนินการโครงการนี้ได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ กลุ่มประเทศยุโรปและนานาประเทศก็มีแนวโน้มที่จะนำโครงการต้นแบบของอังกฤษไปใช้กับประเทศของตนเองในอนาคตอันใกล้

โซเดียมคลอไรด์ หรือ เกลือ ประกอบด้วยโซเดียม 40 เปอร์เซ็นต์ และคลอไรด์อีก 60 เปอร์เซ็นต์ ร่างกายของเราต้องการโซเดียม เพื่อช่วยรักษาความสมดุลในร่างกายให้ทำงานได้เป็นปกติ และทำหน้าที่เป็นเหมือนระบบประสานงานในร่างกายก็จริงอยู่ แต่ทว่าในแต่ละวัน เราอาจจะบริโภคเกลือมากเกินไปโดยที่ไม่รู้ตัว ทั้งที่จริงแล้วปริมาณเกลือเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอสำหรับการทำงานของระบบร่างกาย การบริโภคเกลือในปริมาณมากเกินไปจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ

เมื่อร่างกายของคนเราได้รับเกลือปริมาณมาก ปริมาณโซเดียมที่มากเกินพอดีจะทำให้ร่างกายเก็บรักษาน้ำมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะความดันสูงในหลอดเลือด

นอกจากนี้คุณเคยทราบไหมว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคเกลือเกินความจำเป็นมีสาเหตุมาจากกระบวนการปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารตะวันตก (ที่เราคิดว่ารสชาติไม่เค็มจนเกินไป) อย่างเนื้อที่ผ่านกระบวนการหมักพร้อมปรุง ชีส ธัญพืช ขนมปัง และมันฝรั่งทอดกรอบสำเร็จรูป หรือแม้อาหารไทยที่มีน้ำปลาเป็นเครื่องปรุงรสสำคัญ

 ถึงจะเป็นงานวิจัยแบบเรื่องเก่าเล่าใหม่ แต่ก็ส่งผลดีและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคไม่น้อย เพราะทันทีที่ได้รับการเผยแพร่ รายงานการวิจัยฉบับนี้ก็ได้มีส่วนกระตุ้นให้อุตสาหกรรมอาหารลดปริมาณเกลือในขั้นตอนการผลิตของตนเองลง และยังทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายจากการรับประทานอาหารรสเค็มกันมากขึ้น 


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement